NCAP เคาะขาย IPO 2.20 บาท/หุ้น เปิดจองซื้อวันที่ 30 ต.ค. และ 2-3 พ.ย. คาดว่าจะสามารถระดมทุนได้ราว 660 ล้านบาท เพื่อใช้ลงทุนในระบบสารสนเทศเพื่อพัฒนาระบบการให้บริการสินเชื่อ และระบบสนับสนุนการทำงาน ชำระคืนเงินกู้ยืมสถาบันการเงิน และเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจ เตรียมเข้าเทรดใน SET วันที่ 9 พ.ย.นี้

บมจ.เน็คซ์ แคปปิตอล (NCAP) ซึ่งประกอบธุรกิจให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ กำหนดราคาเสนอขายหุ้นให้แก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 300 ล้านหุ้น ที่ราคาหุ้นละ 2.20 บาท โดยจะเปิดจองซื้อระหว่างวันที่ 30 ต.ค. และวันที่ 2-3 พ.ย.63 คาดว่าจะสามารถระดมทุนได้ราว 660 ล้านบาท เพื่อใช้ลงทุนในระบบสารสนเทศเพื่อพัฒนาระบบการให้บริการสินเชื่อ และระบบสนับสนุนการทำงาน ชำระคืนเงินกู้ยืมสถาบันการเงิน และเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจ โดยกำหนดวันที่เข้าจดทะเบียนซื้อขายเป็นวันแรกวันที่ 9 พ.ย.63

สำหรับการกำหนดราคาเสนอขาย IPO ครั้งนี้ กำหนดตามมูลค่าเชิงเปรียบเทียบกับมูลค่าของบริษัทเทียบเคียงที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ที่สามารถอ้างอิงได้ (Market Comparable) โดยพิจารณาจากอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้นของบริษัท (Price to Earnings Ratio : P/E) ทั้งนี้ ราคาหุ้นสามัญที่เสนอขายหุ้นละ 2.20 บาท คิดเป็นอัตราส่วน P/E เท่ากับ 9.3 เท่า เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิที่ 0.24 บาทต่อหุ้น ซึ่งคำนวณจากกำไรสุทธิของบริษัทในช่วง 4 ไตรมาสย้อนหลัง ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.63 -30 มิ.ย.63 ซึ่งมีกำไรสุทธิเท่ากับ 142.7 ล้านบาท เมื่อหารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัทก่อนการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ จำนวน 600.00 ล้านหุ้น (Pre-IPO Dilution)

และคิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E) เท่ากับ 13.9 เท่า เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิที่ 0.16 บาทต่อหุ้น หากพิจารณากำไรสุทธิต่อหุ้นที่คำนวณจากจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ ซึ่งเท่ากับ 900 ล้านหุ้น (Post-IPO Dilution)

การเสนอขายหุ้น IPO แบ่งจัดสรรให้แก่บุคคลตามดุลพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์จำนวนไม่เกิน 225 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นไม่เกิน 75% ของจำนวนหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่จะเสนอขายในครั้งนี้ ผู้มีอุปการคุณของบริษัทไม่เกิน 45 ล้านหุ้น และกรรมการ ผู้บริหาร พนักงานของบริษัท และบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับบริษัท แต่เมื่อรวมกับหุ้นที่จัดสรรให้แก่ผู้มีอุปการคุณแล้วจำนวนไม่เกิน 75 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นไม่เกิน 25% ของจำนวนหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่จะเสนอขายในครั้งนี้

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการของ บมจ.คอมเซเว่น (COM7) และ บมจ.ซินเน็ค (ประเทศไทย) (SYNEX) มีมติอนุมัติให้ COM7 และ SYNEX ในฐานะบุคคลที่มีความสัมพันธ์ สามารถจองซื้อหุ้น IPO ของบริษัทที่จะเสนอขายในครั้งนี้ได้ โดยจำนวนที่จองซื้อเมื่อรวมกับจำนวนหุ้นของผู้มีอุปการคุณ กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทจองซื้อ จะต้องมีจำนวนไม่เกิน 75 ล้านหุ้น

สำหรับผู้ถือหุ้นใหญ่ของ NCAP ประกอบด้วย COM7 มีสัดส่วนการถือหุ้นก่อนและหลัง IPO 40% และ 26.67% ตามลำดับ SYNEX สัดส่วนการถือหุ้นก่อนและหลัง IPO 40% และ 26.67% ตามลำดับ ขณะที่วิสต้า อินเวสท์เม้นท์ ลิมิเต็ด สัดส่วนการถือหุ้นก่อนและหลัง IPO 7.50% และ 5% ตามลำดับ โดยจำนวนหุ้นที่ติด Silent Period ในครั้งนี้สัดส่วน 55% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดหลัง IPO โดยหุ้นของผู้ถือหุ้นใหญ่ COM7 และ SYNEX ติด Silent ทั้งหมด

นายสมชัย ลิมป์พัฒนสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ NCAP เปิดเผยว่า บริษัทเชื่อว่าหุ้นที่เสนอขาย IPO จะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนเนื่องจากบริษัทมีผลประกอบการที่เติบโตมาอย่างต่อเนื่องช่วงที่ผ่านมา และเชื่อว่าหุ้นบริษัทจะเป็นอีกหุ้น Growth Stock ที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่นักลงทุนในระยะยาว โดยในช่วงครึ่งปีแรกบริษัทมีรายได้ 561.89 ล้านบาท เติบโต 18.67% และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 70.65 ล้านบาท หรือเติบโต 30.3% แม้ว่าจะมีจำนวนสัญญาใหม่ที่ลดลงก็ตาม แต่ยังมีส่วนของรายได้อื่นๆ ที่ดี และยังมีการลดลงของอัตราดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทด้วย

ปัจจุบัน NCAP มีมูลค่าพอร์ตสินเชื่ออยู่ที่ 4,000 ล้านบาท และมีจำนวนบัญชีราว 100,000 ราย มีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศรวม 24 สาขา และมีตัวแทนจำหน่ายรถเป็นพันธมิตรของบริษัทในพื้นที่ต่างๆ ราว 600 ราย ซึ่งบริษัทมีความแข็งแกร่งและเป็นผู้นำในพื้นพื้นที่ภาคใต้ พร้อมเตรียมขยายพอร์ตสินเชื่อและการให้บริการไปสู่ภูมิภาคอื่นๆ เพิ่มขึ้น โดยมีแผนขยายสาขาในปี 64 จำนวน 1 แห่ง และในปี 65 อีก 2 แห่ง รวมไปถึงการลงทุนระบบต่างๆ ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และความแม่นยำในการอนุมัติเพื่อที่จะควบคุมระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ไม่ให้ปรับตัวสูงขึ้น จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.26%

สำหรับสัดส่วนรายได้หลักปัจจุบันอยู่ที่การปล่อยเช่าซื้อรถจักยานยนต์ใหม่ 99% คือ Small bike 57.8% Top small 34.7% Mediam bike 7.4% และ Big bike 0.2% ส่วนที่เหลือมาจากรถจักรยานยนต์มือสอง 0.5% และอื่นๆ อีก 0.5%

"หลังจากกนี้อัตราการทำกำไรของบริษัทมีโอกาสที่จะปรับตัวสูงขึ้น โดยบริษัทจะได้ประโยชน์จากการที่ได้เงินระดมทุนจาก IPO เข้ามาช่วยลดต้นทุนทางการเงินของบริษัท และพัฒนาระบบการปล่อยสินให้มีความรวดเร็วแม่นยำมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลให้พอร์ตสินเชื่อมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง" นายสมชัย กล่าว

นายสมชัย กล่าวว่า ส่วนทิศทางตลาดจักรยานยนต์ใหม่ในประเทศปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 1.5 ล้านคัน ลดลงราว 8% จาก 1.6 ล้านคันในปีก่อน เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการลดลงเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่หลังจากที่สถานการณ์คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น การฟื้นตัวของความต้องการรถจักรยานยนต์ฟื้นตัวในรูปแบบตัว V แต่ยอดขายรถจักรยานยนต์ใหม่ยังไม่เติบโตตามความต้องการที่สูงขึ้น จากการผลิตที่มีความล่าช้า ซึ่งเป็นผลกระทบในประเทศเวียดนามที่ผลิตชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ไม่ได้ เนื่องจากยังมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

ข้อมูลจาก   https://mgronline.com